ความเป็นมาโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน

Spread the love

ความเป็นมาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

        กว่า 50 ปีมาแล้ว ที่หมู่ลาดตระเวนชายแดนและตำรวจพลร่มเข้าไปในหมู่บ้านชาวเขา และได้พบเห็นว่าไม่มีใครพูดไทยได้ และแม้ว่าจะมีเด็กวัยเรียนจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีใครไปจัดตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านเหล่านั้น หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศได้ ดังนั้น ตำรวจตระเวนชายแดนจึงได้ริเริ่มจัดตั้ง โรงเรียนชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคม ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2499 เพื่อสอนให้เด็กชาวเขาและประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ได้เรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย เป็นสื่อกลางในการสร้างความคุ้นเคยและไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านและตำรวจตระเวนชายแดน อันเป็นแนวทางของการพัฒนาที่ถาวรและนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป

         ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงได้พระราชทานพระ ราชทรัพย์สร้างโรงเรียน มีอาคารเรียนถาวร สื่ออุปกรณ์การเรียนต่างๆ อีกทั้งโรงเรียน ตชด. มีความเจริญก้าวหน้า ขยายออกไปในอีกหลายพื้นที่ โรงเรียน ตชด. เป็นโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีที่ตั้งกระจายอยู่ตามแนวชายแดน พื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลการคมนาคมทั่วทุกภาคของประเทศ ปรัชญาของโรงเรียนคือ “สร้างภูมิปัญญา พัฒนาคุณภาพชีวิต สัมฤทธิ์ผลความมั่นคง” จากเริ่มต้นมีโรงเรียนทั้งสิ้น 713 โรง แต่บางส่วนถูกยุบเลิกไปเนื่องจากประชาชนย้ายถิ่นฐาน และบางส่วนมอบโอนให้กระทรวงศึกษาธิการเนื่องจากพื้นที่มีความเจริญเข้าถึง ในปัจจุบัน มีโรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน 164 โรง แบ่งเป็นระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่  6 จำนวน 161 โรง และระดับมัธยมศึกษา 2 โรง ซึ่งเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายสายอาชีพ และสายสามัญ นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกร มีหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยใหญ่ ไทยภูเขาเช่น กระเหรี่ยง ลัวะ ม้ง มูเซอ จีนฮ่อ อีก้อ เป็นต้น ครูของโรงเรียน ตชด. เป็นตำรวจตระเวนชายแดน ไม่ได้มีความรู้วิชาครูมาก่อน ดังนั้นจึงจาเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้และทักษะทางการสอนให้แก่ครู ตชด. ทั้งการศึกษาระยะยาวเพื่อเพิ่มคุณวุฒิทางการศึกษา และการฝึกอบรมระยะสั้นด้านเทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

         โรงเรียน ตชด. กับงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 เป็นต้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานโครงการตามพระราชดำริให้กับโรงเรียน ตชด. เพื่อดำเนินการพัฒนาให้เด็กและชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริจะมีครู ตชด. เป็นแกนนำในการถ่ายทอดความรู้ โดยให้ประชาชนในชุมชนมาร่วมในทุกๆ กิจกรรมของโรงเรียน ตชด. ทำให้เด็กนักเรียนได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กับการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการตามพระราชดำริ อาทิ

    – โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
    – โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน
    – โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร
    – โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา
    – โครงการฝึกอาชีพ
    – โครงการส่งเสริมสหกรณ์
    – โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    – โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

        ผลของการปฏิบัติงานของครู ตชด. รวมทั้งหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริ ได้ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารจำนวนหลายหมื่นคนได้รับการศึกษา หลายคนได้เรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัย และอีกหลายคนมีอาชีพ สามารถหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ชุมชนที่อยู่ในเขตบริการการศึกษาของโรงเรียน ตชด. ซึ่งมีมากกว่า 500 แห่งก็ได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แม้ว่าเด็กและชุมชนในถิ่นทุรกันดารส่วนใหญ่จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนก้าวหน้าไปมาก แต่ยังมีพื้นที่ชายแดนห่างไกลการคมนาคม ที่มีประชาชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยยังรอโอกาสที่จะได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปจัดการศึกษาได้ ตำรวจตระเวนชายแดนจึงยังต้องทำหน้าที่จัดการศึกษาให้กับประชาชนเหล่านั้น ด้วยทุนพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และผู้มีจิตศรัทธาที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ทำให้ตำรวจตระเวนชายแดนสามารถสร้างสถานศึกษา จัดหาวัสดุอุปกรณ์การศึกษา และจ้างคนในท้องถิ่นมาเป็นผู้ช่วยจัดการศึกษาให้แก่เด็กในพื้นที่ห่างไกลได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปี