วันศุกร์, พฤศจิกายน 1, 2024
สถาบันวิจัยและพัฒนา

ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันวิจัยฯ

Spread the love

ประวัติความเป็นมาของสถาบันวิจัยและพัฒนา

    มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีพัฒนาการมาจากวิทยาลัยครู  จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2516 และได้ดำเนินการจัดการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519  ซึ่งมีหน้าที่หลักในการผลิตครู ต่อมาได้พัฒนาการจัดการศึกษา โดยสามารถผลิตบัณฑิตหลากหลายสาขาออกมาปฏิบัติงานในสังคม ต่อมาในปี พ.ศ. 2538  ได้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นสถาบันราชภัฏเลยตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538  ซึ่งได้กำหนดให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครู และส่งเสริมวิทยฐานะครู ซึ่งสถาบันราชภัฏเลยได้ปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายมาโดยต่อเนื่อง และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ส่งผลดีต่อชุมชนและท้องถิ่นมาโดยลำดับ

    วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2547 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏมีผลบังคับใช้  ทำให้สถาบันราชภัฏเลยยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ที่มีปรัชญามุ่งเน้นการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ดังที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547  มาตรา  7  ดังนี้  “ ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปะวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน  โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะ”  ด้วยนิยามแห่งคุณค่านี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงต้องปรับเปลี่ยนจากพันธกิจที่เคยเน้นหลักด้านการสอนไปสู่การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ 

    สถาบันวิจัยและพัฒนา เดิมเป็นงานฝ่ายหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักวิจัยและบริการวิชาการตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ.2538 และในปี พ.ศ.2548 สถาบันราชภัฏได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย และได้จัดตั้งส่วนราชการใหม่ เป็นสถาบันและพัฒนา ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกาตอนที่ 74 ง เล่มที่ 123 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549  ซึ่งมีผลใช้บังคับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 23 มิถุนายน  2549 ปัจจุบันสถาบันวิจัยและพัฒนาอยู่ในความรับผิดชอบของรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ โดยแบ่งโครงสร้างการทำงาน เป็น 1 สำนักงานผู้อำนวยการ โดยดำเนินงานต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

1. งานบริหารทั่วไป  

2. งานบริการวิชาการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์     

3. งานวิจัยและพัฒนา    

4. งานสารสนเทศการวิจัย  

5. ศูนย์ส่งเสริมการจัดการความรู้

    สถาบันวิจัยและพัฒนา มีภารกิจที่สำคัญ คือ การจัดตั้งและพิจารณาให้ทุนอุดหนุนการวิจัย การวิจัยมหาวิทยาลัย การพัฒนานักวิจัย การเป็นสื่อกลางในการประสานประโยชน์และความต้องการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาระหว่างหน่วยงานและบุคลากรของมหาวิทยาลัยกับองค์กรต่าง ๆ ภายนอก รวมทั้งให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนและท้องถิ่นในหลายรูปแบบ เช่น การอบรม การประชุม การเสวนา การสัมมนา แก่บุคคลภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย ดำเนินงานโครงการตามแนวพระราชดำริและพัฒนาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในจังหวัดเลย การประเมินผลโครงการต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นและตามความต้องการของหน่วยงานภายนอก เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และพันธกิจของมหาวิทยาลัย

แผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน

ปรัชญา

    ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย และงานบริการวิชาการเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยและท้องถิ่นสู่สากล

วิสัยทัศน์​

  1. สถาบันวิจัยและพัฒนาเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการวิจัยแก่บุคลากรได้อย่างมีคุณภาพเพื่อตอบสนองท้องถิ่นสู่สากล
  2. สถาบันวิจัยและพัฒนาเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการให้บริการด้านวิชาการแก่ชุมชนที่หลากหลายและตรงตามความต้องการของชุมชนอย่างเพียงพอ

พันธกิจ​

  1. เสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
  2. พัฒนาระบบบริหารจัดการวิจัยของมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพ
  3. บูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอน การพัฒนามหาวิทยาลัย และการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
  4. สร้างภาคีเครือข่ายเพื่อการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  5. บริการวิชาการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
  6. พัฒนางานบริการวิชาการแก่ท้องถิ่นให้มีรูปแบบที่หลากหลายและตรงตามความต้องการของชุมชนอย่างเพียงพอ

วัตถุประสงค์​

  1. เพื่อสร้างแรงจูงใจและพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการวิจัยทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
  2. เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศทางการวิจัยและบริการวิชาการให้มีคุณภาพ
  3. เพื่อผลักดันการใช้ผลการวิจัยบูรณาการงานวิจัยกับการเรียนการสอน การพัฒนามหาวิทยาลัย และการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
  4. เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อการวิจัยและบริการวิชาการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
  5. เพื่อพัฒนางานบริการวิชาการแก่ท้องถิ่นให้มีรูปแบบที่หลากหลายและตรงตามความต้องการของชุมชนอย่างเพียงพอ และส่งเสริมสนับสนุนโครงการตามแนวพระราชดำริ

เป้าหมาย​

  1. บุคลากรมีศักยภาพทางด้านการวิจัยเพิ่มขึ้น
  2. มีระบบสารสนเทศการวิจัยและบริการวิชาการที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ง่าย
  3. มีฐานข้อมูลภาคีเครือข่ายการวิจัยและบริการวิชาการ
  4. มีภาคีเครือข่ายความร่วมมือวิจัยและบริการวิชาการกับหน่วยงานอื่น ๆ
  5. มีผลงานวิจัยที่นำไปใช้กับการเรียนการสอน การพัฒนามหาวิทยาลัย และพัฒนาท้องถิ่น
  6. มีการเรียนรู้ และดำเนินการตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง

การสนับสนุนโครงการ​

  1. การให้ทุนสนับสนุนทุนวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนา จัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการวิจัยของบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย  โดยแบ่งออกเป็น

    1.1 ประเภททุนทั่วไป บริหารโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา

    1.2 ประเภททุนทั่วไป บริหารโดย คณะ/สำนัก

    1.3 ประเภททุนวิจัยในชั้นเรียน บริหารโดย คณะ

  1. การสนับสนุนการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย

    มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มีนโยบายส่งเสริมให้บุคลากรได้เผยแพร่ผลงานวิจัยและสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีการเผยแพร่บทความวิจัยมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญให้กำลังใจแก่บุคลากรในการเผยแพร่ผลงานวิจัย/วิชาการสู่ระดับชาติและนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มีการสนับสนุนงบประมาณ ดังนี้

    2.1 การสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำเสนอผลงานวิจัย เป็นการส่งเสริมให้บุคลากรนำผลงานไปนำเสนอในการประชุมทางวิชาการทั้งภายในและต่างประเทศ

    2.2 การสนับสนุนรางวัลการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยลงวารสารระดับชาติและนานาชาติ เป็นการส่งเสริมให้บุคลากรนำผลงานไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการทั้งภายในและต่างประเทศ

    2.3 การสนับสนุนนักวิจัยดีเด่น เป็นการให้รางวัลสำหรับบุคลากรที่ไปนำเสนอผลงานในการประชุมทางวิชาการทั้งภายในและต่างประเทศ ที่ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงาน เช่น ผลงานวิจัยได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ฯลฯ